เครื่องแบบนักเรียนวัฒนา

โดย อาจารย์อายะดา กีรินกุล

            แต่เดิม ตั้งแต่สมัยอยู่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง นักเรียนไม่มีเครื่องแบบ ใครมีเสื้อผ้าอะไรก็สวมมาโรงเรียนได้ เด็กในกรุงก็นุ่งโจงกระเบน เด็กจากเมืองเหนือ เมืองอิสาณ นุ่งผ้าซิ่น เป็นผ้าเป็นไหมตามฐานะ ลูกฝรั่งสวมกระโปรง

โรงเรียนย้ายมาบางกะปิเมื่อปี พ.ศ. 2463 ก็ยังไม่มีเครื่องแบบ แต่ทางโรงเรียนรัฐบาลมีแล้วแน่นอน จะเริ่มเมื่อไรไม่ทราบชัด ในปี พ.ศ. 2470 โรงเรียนวัฒนา เตรียมนักเรียนมัธยม 8 เข้าสอบเทียบเสมอนักเรียนชาย มีนางสาวอนงค์ อิศรภักดีคนหนึ่ง จากโรงเรียนเบญจมราชาลัย มาเข้าเรียน เขามีเสื้อผ้าเป็นกระโปรงสีน้ำเงิน เสื้อขาวมีปก แขนยาวเพียงข้อศอก อนงค์สวมเสื้อผ้าชุดนี้ทุกวัน จนเพื่อนร่วมชั้นสงสัยว่า เขามีเสื้อผ้าชุดเดียวหรืออย่างไร จึงถามไถ่กัน และรู้เรื่องว่า มีเจ็ดชุด สำหรับเจ็ดวัน เป็นเครื่องแบบโรงเรียนรัฐบาล

นักเรียนวัฒนาก็มีเวลาที่แต่งตัวเหมือนกันทั้งชั้นเหมือนกัน เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2474 รัชกาลที่ 7 เสด็จนิวัติกลับพระนคร หลังจากไปทรงรักษาพระเนตรที่สหรัฐอเมริกา นักเรียนวัฒนานุ่งกระโปรงแดง เสื้อขาวคอบัว อกกลัดโบว์สีแดง สวมถุงเท้ารองเท้าขาวสวยงาม ไปเดินเข้าขบวน ได้รับคำชมเชย จะเป็นเหตุนี้ด้วยกระมัง โรงเรียนจึงกำหนดเครื่องแบบให้นักเรียนวัฒนาสวมเป็นประจำ เว้นไม่กลัดโบว์สีแดง นอกจากเวลามีงาน ส่วนเอวเสื้อ บางทีเก็บเข้ากระโปรง บางทีปล่อย (เพราะเหตุใดก็จำไม่ได้) ปกเสื้อ เปลี่ยนเป็นปกเชิตแทนคอบัว เพราะเย็บง่ายกว่ากัน ล่วงมาจนประมาณปี 2498 เลิกโบว์แดง เป็นปักอักษร ว.ว. ที่อกเสื้อด้านซ้ายด้วยด้ายสีแดง ต่อมาเพิ่มปักเลขประจำตัวใต้อักษรชื่อโรงเรียน ตามคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สำคัญๆก็มีเพียงเท่านี้

ภาพเครื่องแบบนักเรียนวัฒนา รุ่น 65

สมาคมศิษย์วังหลัง-วัฒนา

สมาคมศิษย์วังหลัง - วัฒนา

อาคารเอ็ดน่าโคล์อนุสรณ์ ในโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เลขที่ 67 ถนน สุขุมวิท 19 แขวงคลองเตยเหนือ เขต วัฒนา กรุงเทพฯ ​10110

ช่องทางการติดต่ออื่นๆ

wwaalumni.web@gmail.com
0-2254-2364
W.W.A. Together
@wwaa