๑๓ นักเรียนสวนกุหลาบฯปีนรั้วโรงเรียนหญิง

มัธยมปีที่ ๘ ค. (แผนกภาษา) พ.ศ.๒๔๗๕

แถวที่ ๑ สุวรรณ ดิษยมณฑล, เชิญ สินธุนาวา, สมนึก สิงหแพทย์, เม่งเฉี่ยง แซ่เลี่ยว, ชุบ อยู่ดี, ประดิษฐ์ พานิชการ, บรรจิตร สังขพิชัย

แถวที่ ๒ สมาน มันตาภรณ์, ไสว ถาวรศิริ, สุบิน เกษทอง, ม.ล.จิตรสาน ชุมสาย, สุโข อินทรประชา, ภักดิ์ สุนทรารักษ์, บุญช่วย นิธิประภา, ทวีป ดำรงสัตย์, อทัย ปัจมาภิรมย์, ประสิทธิ์ กีรติบุตร, โสภณ ศุภนันท์, เพี้ยว บุญรักษา

แถวที่ ๓ ครูเม่งซัม พูนสวัสดิ์, หลวงเสขสุนทร, พระดรุณฯ, หลวงวิศาลดรุณกร, A.C. Churchill, C.W. Ward B.A., J.A. Degen, หลวงชุณหกสิกร, ม.ล.พันธ์ ศิริวงศ์

แถวที่ ๔ อุดร อดมสิน, เดช อิ่มพัฒน์, เอื้อน จารุรัตน์, อุทัย สิปตสุนทร, โปร่ง เปล่งศรีงาม, ผาด เมฆหมี, สหทัย โดษนันท์, เฉลียว รุทรวณิช, ประสิทธิ์ สุขะปิณฑะ

เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ ข้าพเจ้ามาจากเมืองตราด เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มัธยมปีที่ ๓ อันเป็นปีที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีชั้นมัธยมปีที่ ๓ เป็นปีสุดท้าย ต่อไปก็มีแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๔ เป็นต้นไป เลขประจำตัว ๕๕๒๐ บ้านอยู่ที่บ้านหม้อด้านหลังมีรั้วติดกับบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ โปร่ง มาจากเมืองสิงห์บุรี เข้าโรงเรียนสวนกุหลาบฯ เลขประจำตัว ๖๑๖๓ บ้านพักอยู่ที่วัดสามปลื้ม ก็อยู่ใกล้กัน
….
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่มีตัวตึกยาวที่สุดในโลก แต่นักเรียนของเรามิได้หลังยาวไปด้วย มีแต่ความขยันขันแข็ง นักเรียนแต่งตัวสวมหมวกฟาง ใส่ถุงน่อง รองเท้าดำ กางเกงขาสั้นสีดำ เสื้อนอกสีขาวกระดุมเงิน ๕ เม็ด สวมติดตัวอยู่ตลอดเวลา แม้เวลาเล่น เวลาเรียน และเวลาหยุดพัก มีอาจารย์ใหญ่เป็นชาวอังกฤษ ชื่อ นายเอ็น ซัตตัน ( Mr.Norman Sutton) และมีครูประจำชั้นมัธยมปีที่ ๘ สำหรับชั้นที่คัดเลือกนักเรียนเก่ง แต่ละแผนกเป็นชาวอังกฤษ และชั้นรองๆลงมาให้ครูชาวอังกฤษคนอื่นๆสอนวิชาภาษาอังกฤษเป็นประจำ
….
เรามีความภาคภูมิใจในโรงเรียนของเราที่มีนักเรียนเรียนหนังสือเก่ง สอบได้ทุนไปเรียนเมืองนอกสาขาต่างๆกันเยอะแยะ พวกเราเป็นพวกช้างเผือกมาจากป่า เพราะนักเรียนของเราส่วนมากมาจากหัวเมือง เรามีความภาคภูมิใจที่นักเรียนของเราออกมาทำงานการเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง มีชื่อเสียงเกียรติคุณขจรขจายไปทั่ว โดยเฉพาะรุ่นของเรา พ.ศ.๒๔๗๕ ก็มี บุญมา วงศ์สวรรค์ (อดีต ร.ม.ต.คลัง) มาจากนครชัยศรี, พล.อ.สุรกิจ มัยลาภ (อดีต ร.ม.ต.คมนาคม) มาจากสุโขทัย, พล.ร.อ.จิตต์ สังขดุลย์ (อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม) กรุงเทพฯ, ชลอ วนภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย มาจากฉะเชิงเทรา,ชำนาญ ยุวบูรณ์ (อดีตอธิบดีกรมการปกครอง,นายกเทศมนตรี กรุงเทพฯ และอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำอาเยนติน่า) มาจากอ่างทอง, สมาน มันตาภรณ์ (ศัลยแพทย์หัวใจชื่อดัง) มาจากสุราษฎร์ฯ, พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ (อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศและรองประธานสมาชิกวุฒิสภา) และ ก็โปร่ง เปล่งศรีงาม (อดีตอธิบดีกรมอัยการ)จากสิงห์บุรี เป็นอาทิ ซึ่งเราก็ได้มีการชุมนุมกันปีละสองครั้ง
…..
เมื่อเราเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๗๔) วันดีคืนดีเราได้นัดแนะกันไปมอร์นิ่งวอร์คกันที่ประตูน้ำสระประทุม ในสมัยโน้นถนนเพชรบุรีไปสิ้นสุดที่สามแยกโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ต่อจากนั้นเป็นท้องทุ่งนา และก็เป็นถนนลูกรัง เราเรียกกันว่าถนนกรวด วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๗๔ เป็นเวลา ๕๕ ปีมาแล้ว เรานัดกันตี ๔ ครึ่ง อากาศตอนเช้ามืดกำลังเย็นๆอยู่มาก สถานที่นัดคือ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ตรงใต้ต้นตะขบอันเป็นที่ตั้งของธนาคารออมสิน(สาขา) ขณะนี้ ที่เอาที่นั่นเป็นจุดศูนย์กลางเพราะมันไม่ไกลจากบ้านเพื่อนๆรักที่เราชักชวนกันไป และมันอยู่ตรงใกล้บ้าน เชิญ สินธุนาวา ที่อยู่บ้านเจ้าคุณอรรถกฤตฯ (กรมป่าไม้) เชิญ ก็เป็นช้างเผือกมาจากป่าจันทบุรีมาพักอยู่บ้านนั้น พวกเราที่นัดแนะกันมี ม.ล.จิตรสาร ชุมสาย เป็นหัวหน้า มีเชิญ สินธุนาวา (ตายแล้ว) มีสหทัย โดษะนันทน์ มีโปร่ง เปล่งศรีงาม มีข้าพเจ้า (อ้ายดิษฐ์ของโปร่งเขา และมีเพื่อนรักอื่นๆอีกรวม ๑๓ คน)
….
พวกเราย่ำเท้าจากสี่แยกคอกวัวไปตามถนนเพชรบุรีอันขรุขระไปถึงประตูน้ำสระประทุม ถึงที่นั่นราวตี ๕ กว่าๆยังมืดอยู่ ก็เลยเดินเรื่อยๆไปจนสุดถนน เลี้ยวซ้ายเข้าไปทางโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ถึงหน้าโรงเรียนก็ไปยืนเก้ๆกังๆอยู่ ในที่สุด ม.ล.จิตรสาร ชุมสาย หัวหน้าของเรา (เขาเป็นหัวหน้าชั้น ม.๗ จริงๆของเราด้วย) ก็บงการให้เพื่อนคนหนึ่งปีนรั้วหน้าประตูเข้าไปในโรงเรียน เพราะเป็นคนตัวสูงโย่งเข้าไปถอดโซ่กุญแจหน้าประตู เพราะกุญแจมิได้ลั่นดานไว้ เปิดประตูเข้าไปในบริเวณโรงเรียนเป็นเวลาสางๆ ๖ โมงเช้าเห็นจะได้ ไปเดินชมนกชมไม้ในบริเวณโรงเรียน นักเรียนหญิงกินนอนก็โผล่มาจากตัวตึกส่งเสียงประหลาดใจที่มีอ้ายตัวอะไร(ตัวผู้) เข้ามายุ่มย่ามในบริเวณ ในยามค่อนข้างวิกาล คงไม่เคยเห็นอย่างนี้มาแต่เก่าก่อน แต่เราก็ไปอย่างเด็กดี มิได้ไปกระทำมิดีมิร้ายแก่นักเรียนหญิงแต่ประการใดแม้แต่น้อยนิด เข้าไปด้วยความคึกคะนองใจ ตามวิสัยวัยรุ่นสมัยโบราณ (อายุ ๑๕-๑๖ ขวบ) แล้วสักครู่ต่อมาแขกยามผู้ละเลยต่อหน้าที่ก็วิ่งเข้ามาเอะอะ เพราะเข้ามาถึง ๑๐ กว่าคน แขกยามกักตัวและลั่นกุญแจทันที ไปฟ้องแหม่มโคว์ อาจารย์ใหญ่ แหม่มโคว์ก็ลงมาจากตึก ซักไซ้ไล่เลียงว่าเป็นใครมาจากไหนเข้ามาทำไม ถามว่ามาจากไหน เรียนหนังสือโรงเรียนอะไร ม.ล.จิตรสาร ชุมสาย ก็บอกว่ามาจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศน์ โกหกเขาไปนั่น ทุกคนก็โกหกกันทั้งนั้น ทุกคนเอาเปรียบจะได้พ้นผิด ป้ายไปให้โรงเรียนอื่น นึกว่าเขาจะให้กลับบ้านโดยไม่เอาเรื่องอะไร ไม่ต้องถึงโรงพัก ไม่อยากให้ชื่อเสียงของโรงเรียนแปดเปื้อน คือ รักโรงเรียนไม่เข้าท่า ต่อมาพวกเราก็ถูกส่งตัวไปโรงพักพระโขนง ต้องขึ้นรถรางสายสมุทรปราการไปลงพระโขนง ร้อนถึงพระภัทรกิจโกศล ซึ่งสหทัย โดษะนันทน์ โทรศัพท์ไปบอกก็ไปประกันตัวออกมา ได้มีการสอบสวนทวนความกันเป็นการใหญ่ ถึงขั้นกระทรวงธรรมการได้มีข่าวลงหนังสือพิมพ์ เช่น เกียรติศักดิ์ สยามราษฎร์ ศรีกรุง และบางกอกการเมือง ฯ กันอย่างเอิกเกริกอยู่หลายวัน มีการพูดกันตามโรงเรียนต่างๆเห็นใจพวกเราที่ซุกซนคึกคะนองกัน มิได้ก่อความเสียหายแต่ประการใด เพราะทราบว่าทางกระทรวงจะลงโทษอย่างหนัก ขณะนั้นพระปวโรฬารวิทยาเป็นอาจารย์ใหญ่สืบต่อจาก ซัตตันและเชอร์ชิล พระปวโรฬารวิทยาเจ้าของโรงเรียนปวโรฬารวิทยา ตรงข้ามสถานเสาวภาขณะนี้ ตั้งมาเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้วมา ท่านรักลูกศิษย์ของท่านมากท่านเป็นห่วงปกป้องลูกศิษย์ของท่าน ท่านต่อสู้ทางกระทรวงมิให้มีการลงโทษ ขอเพียงตักเตือน เพราะเห็นว่าเป็นความซุกซนคึกคะนองของเด็ก มิได้ก่อความเสียหายเลวร้ายแต่ประการใดแม้แต่น้อย แต่เรื่องนี้มันไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่มันมีเรื่องการบ้านเข้ามาแทรกแซง ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจะเปิดเผยได้ ในที่สุดก็ได้มีการพิจารณาสั่งลงมาจากกระทรวงธรรมการระบุความผิด ๒ ประการ คือ ๑. ฐานบุกรุกเข้าไปในสถานที่หวงห้ามยามวิกาล ๒. ไม่เคารพวินัยของลูกเสือที่ว่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์ (คือโกหกว่ามาจากโรงเรียนอื่นกันทุกคน) ให้ลงโทษดังนี้ คือ ให้ประกาศชื่อลงในหนังหมามีกำหนด ๗ วัน และให้เฆี่ยน ๑๐ ที
….
การสดุดีชมเชยคนที่ประกอบความดีเด่น เขาก็ให้ประกาศชื่อลงในแผ่นทองคำ จำได้คนหนึ่งคือ ครูฝ้าย บุญเลี้ยง ช่วยคนจะจมน้ำตายในทะเล ที่ตำบลแหลมงอบ เกาะช้าง จังหวัดตราด เพราะเรือถูกพายุจมในทะเล คนประกอบกรรมชั่ว เขาก็ให้ประกาศชื่อลงในแผ่นหนังหมา(หนังสุวาณ) เป็นกรอบรูปกว้างราว ๑ ฟุต ยาวราว ๑ ฟุตเศษ ซึ่งขึงด้วยหนังหมาจริงๆ ซึ่งฟอกแล้ว สีเหลือง แล้วเขาก็เอาประกาศรายชื่อผู้กระทำผิดพร้อมด้วยระบุฐานความผิด พร้อมชื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ออกคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในกระทรวงธรรมการก็เห็นว่าหลักการลงโทษแบบนี้ไม่มีอีกแล้วในโลกนี้ พระปวโรฬารวิทยาท่านต่อสู้แบบหลั่งนำ้ตา เพราะท่านรักลูกศิษย์ของท่าน เพราะเห็นว่าลูกศิษย์ของท่านไม่ได้กระทำผิดร้ายแรงปานฉะนั้น ท่านได้ประชุมนักเรียนทั้งโรงเรียนที่สามัคยาจารย์สมาคม ประการคำสั่งของกระทรวงธรรมการ แล้วก็ลงมือเฆี่ยนพวกเราคนละ ๑๐ ที ไม่เห็นเจ็บเห็นคันอะไร เพราะท่านเฆี่ยนพอเป็นพิธี แล้วก่อนจะมารับโทษพวกเราก็ไปชุมนุมที่บ้านสหทัย โดษะนันทน์ สวมกางเกงหนาๆกันมาคนละชั้นสองชั้น เวลาเฆี่ยนก็ดังปุๆ เป็นที่เวทนาหรือไม่ก็ไม่รู้นะ
ประดิษฐ์ พานิชการ, ส.ก.๕๕๒๐

ที่มา หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายโปร่ง เปล่งศรีงาม, ส.ก.๖๑๖๓ อดีตอธิบดีกรมอัยการ

หมายเหตุ – เนื่องจากมิสโคลกลับไปสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1923 (2466) เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2474 จึงเข้าใจว่าผู้ที่ลงมาพบนักเรียน น่าจะเป็นคุณครูชาวต่างชาติท่านอื่น

สมาคมศิษย์วังหลัง-วัฒนา

สมาคมศิษย์วังหลัง - วัฒนา

อาคารเอ็ดน่าโคล์อนุสรณ์ ในโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เลขที่ 67 ถนน สุขุมวิท 19 แขวงคลองเตยเหนือ เขต วัฒนา กรุงเทพฯ ​10110

ช่องทางการติดต่ออื่นๆ

wwaalumni.web@gmail.com
0-2254-2364
W.W.A. Together
@wwaa